ในวันที่ 27
เมษายน 2564 รศ.ดร.ปริญญา มาสวัสดิ์ รศ.ดร.วิภารัตน์ เชื้อชวด ชัยสิทธิ์ และ
ผศ.ดร.ยุทธพงษ์ อุดแน่น อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ร่วมกับศูนย์วิจัยทางนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการวิเคราะห์
(I-ANALY-S-T)
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ที่ปรึกษาและการสนับสนุนจาก ศ.ดร.เกตุ กรุดพันธ์
ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น (DPG 6080002) ตามโครงการวิจัย นวัตกรรมสีเขียวในการวิเคราะห์ทางเคมีกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สนับสนุนโดยสำนักงานสนับสนุนการวิจัย
(สกว.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบันได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์
แบบ E-Workshop ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนปฏิบัติการแบบออนไลน์ในยุควิถีใหม่
(New normal) โดยเคมีสะอาดแนวใหม่ด้วยการใช้รีเอเจนต์ธรรมชาติและเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่รวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยนิสิตได้ทำปฏิบัติการเรื่อง การวิเคราะห์หาปริมาณเหล็กด้วยนวัตกรรมสีเขียวที่พัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่บ้าน
ซึ่งในยุค New normal จากการระบาดของโรค Covid-19
การศึกษาทุกระดับชั้นทั้งภาคบรรยายและภาคปฏิบัติการจำเป็นต้องมีการปรับตัวอย่างพลิกผันเป็นแบบการศึกษาวิถีใหม่
(New normal education) การวิเคราะห์ทางเคมีแบบสะอาด (Green
chemical analysis) โดยใช้แนวคิดสารเคมีจากธรรมชาติซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
สามารถทำให้เกิดการพัฒนาการวิเคราะห์ทางเคมีแนวใหม่ได้
ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้เรียน
โดยผู้เรียนสามารถทำปฏิบัติการได้เองที่บ้าน (Lab at home) ผ่านการเรียนการสอนแบบออนไลน์
โดยใช้วัสดุ อุปกรณ์ และสารเคมีที่หาได้ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และลดขนาดและปริมาณการใช้สารเคมี (Down scaling) ซึ่งนิสิตระดับปริญญาตรี
สาขาเคมี ชั้นปีที่ 3 และ 4 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ฝึกประสบการณ์การวิเคราะห์ได้เองที่บ้าน โดยใช้สารเคมีที่สกัดจากธรรมชาติจากใบฝรั่ง และสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดได้ในวิธีการวิเคราะห์โดยใช้สารสกัดจากธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งเป็นการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการนี้สามารถใช้เป็นแนวทางการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่และเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติการในยุควิถีใหม่ซึ่งมีผลกระทบเนื่องจาก
Covid-19
นอกจากจะใช้สารเคมีที่เป็นธรรมชาติซึ่งพัฒนามาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว
ยังเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่
องค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นจะเป็นประโยชน์รวมถึงการศึกษาวิถีใหม่
เพื่อให้บรรลุประโยชน์ไม่เฉพาะต่อในประเทศไทยแต่รวมถึงการศึกษาวิถีใหม่ในระดับสากลได้อีกด้วย